ตอนที่แล้วบทที่ 1-1 การเป็นนักเขียนระดับเริ่มต้น
ทั้งหมดรายชื่อตอน
ตอนถัดไปบทที่ 2-1 สามองค์ประกอบหลักของนิยายออนไลน์

บทที่ 1-2 การเป็นนักเขียนระดับเริ่มต้น


นักเขียนมืออาชีพได้แนะนำแนวเรื่องสองสามประเภทที่ง่ายสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ที่ต้องการเริ่มต้น

1. แฟนฟิกชั่น

แฟนฟิกชั่นหมายถึงการใช้ตัวละครและองค์ประกอบทั้งหมดจากเรื่องของคนอื่นที่มีอยู่แล้ว มาเป็นฐานในการสร้างและดัดแปลงให้เกิดเรื่องราวใหม่ขึ้น

ตัวอย่างเช่น คุณอาจเขียนเรื่อง “แฮรี่ พ็อตเตอร์ กับการผจญภัยของเขา” ในเรื่องนี้อาจจะเป็นเกี่ยวกับความเป็นมา ก่อนที่แฮรี่ พ็อตเตอร์จะมาจบลงกับเฮอไมโอเน่ หรือเขาทำอย่างไรถึงมีแฟนหลายคน นี่คือตัวอย่างของแฟนฟิกชั่นเกี่ยวกับแฮรี่ พ็อตเตอร์

สิ่งที่จำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้คือ ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ นักเขียนที่เขียนนิยายแฟนฟิกชั่น จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ถือลิขสิทธิ์เรื่องที่เขาเขียน แม้ว่าคุณเป็นคนเขียนทุกคำลงในแฟนฟิกชั่นของคุณ แต่คุณไม่มีสิทธิ์ในการนำไปหารายได้ทางการค้าแม้แต่นิดเดียว

แต่แม้จะมีเงื่อนไขดังกล่าว แนวแฟนฟิกชั่นก็ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดของนักเขียนระดับเริ่มต้น ด้วยเหตุผลที่ว่า มันเขียนได้ง่าย

เมื่อเริ่มต้นเขียนแฟนฟิกชั่น คุณไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องเกี่ยวกับโลกที่อยู่เบื้องหลังหรือรายละเอียดของสภาพแวดล้อมเหตุการณ์ หรือต้องสร้างตัวละครมากมายขึ้นมาใหม่ แม้ว่านิยายแฟนฟิกชั่นจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายต้นฉบับ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด โดยเฉพาะการสร้างเหตุการณ์และตัวละคร คือเรื่องปกติที่มือใหม่มีปัญหามากที่สุด

โดยทั่วไป การเขียนนิยายแฟนฟิกชั่นจะทำให้กระบวนการเขียนง่ายขึ้นมาก สามารถเลี่ยงส่วนที่เขียนยากออกไปได้เลย และนี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับนักเขียนมือใหม่เมื่อเริ่มเขียนอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับเรื่องแฟนฟิกชั่นใดที่คุณอยากเขียน สิ่งแรกเลยคือต้องเป็นเรื่องที่คุณในฐานะที่เป็นนักเขียนได้อ่านแล้วและมีความคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี รวมทั้งมันควรจะเป็นเรื่องที่คุณชอบจริงๆ เคยอ่านมันหลายรอบไม่รู้เบื่อ นี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำหรับการเขียนนิยายแฟนฟิกชั่น

เหนือสิ่งอื่นใด นักเขียนนิยายออนไลน์มืออาชีพได้แนะนำไว้ว่า เลือกเรื่องแฟนฟิกชั่นจากเรื่องต้นฉบับที่ลิขสิทธิ์หมดอายุไปแล้วอย่างเช่น “โรมิโอและจูเลียต” หรือ “ดอนกิโฆเต้” และเรื่องอื่นๆ หรืออีกทางหนึ่งที่ดีมากคือ ถ้าคุณได้รับอนุญาตโดยตรงจากผู้เขียนงานต้นฉบับที่คุณตั้งใจจะเขียนงานแฟนฟิกชั่นกับเรื่องนั้นๆ

แน่นอนว่า หากคุณไม่มีทางที่จะติดต่อนักเขียนเจ้าของเรื่องเพื่อขออนุญาต ก็ยังสามารถเขียนแฟนฟิกชั่นได้ แค่คุณจะเขียนให้ฟรีๆ โดยปราศจากการได้ผลประโยชน์ทางการค้าใดๆ และเป็นการแสดงความนับถือต่อนักเขียนเจ้าของเรื่องต้นฉบับ สุดท้ายแล้ว สำหรับนักเขียนหน้าใหม่อย่างคุณ การเรียนรู้และพัฒนาฝีมือการเขียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากนวนิยายของคุณยังยากที่จะขายได้ในขั้นนี้ มันจึงไม่สำคัญเลยแม้คุณจะเขียนแฟนฟิกชั่นที่คุณไม่ได้รับอนุญาตให้หากำไรจากมัน

2. นิยายสมัยใหม่

เรื่องแนวนี้หมายถึงนิยายที่ดำเนินเรื่องเกิดขึ้นในเมืองสมัยใหม่ สถานที่เมืองที่เป็นฉากหลังของเรื่อง ปกติจะเป็นที่ที่นักเขียนอยู่และคุ้นเคยอยู่แล้ว

เมื่อเปรียบเทียบกับแฟนฟิกชั่น นิยายสมัยใหม่จะเพิ่มความยากขึ้นอีกโดยคุณจะต้องสร้างตัวละครขึ้นมาเอง แต่อย่างน้อย มันก็ลดความยากเกี่ยวกับการคิดสร้างฉากหลังในเรื่องลง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเวลาเขียนแนะนำตัวละคร คุณจะประหยัดเวลาในเรื่องที่ต้องอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เป็นข้อมูลพื้นๆ ในเรื่อง เช่น อาชีพของตัวละคร หรือสถานะทางสังคม การลดความยุ่งยากในการเขียนเป็นสิ่งมีค่ามากสำหรับนักเขียนมือใหม่

หากเปรียบเทียบกับแนวแฟนฟิกชั่น แนวสมัยใหม่มีความได้เปรียบในตัวมันเองด้วย อย่างเช่น นักเขียนเองสามารถเขียนตัวละครที่เหมือนตนเองลงไปในตัวละครหลัก ทำให้การคิดเรื่องการดำเนินเรื่องง่ายขึ้นมาก ถ้าว่ากันตามปกติ ทั้งหมดที่คุณต้องทำคือใส่ความสามารถพิเศษไปในตัวละครหลัก หรือความได้เปรียบที่ไม่เหมือนใคร และที่เหลือจะไหลออกมาอย่างกับน้ำก๊อกเลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น มีนวนิยายที่เป็นที่นิยมมากเรื่องหนึ่ง พล็อตเรื่องเกี่ยวกับการกลับมาเกิดใหม่ของตัวละครหลัก ตัวเอกของเรื่องมีความสามารถพิเศษง่ายๆ เพียงอย่างเดียวคือ กลับมาเกิดใหม่ย้อนกลับไปหลายปีในอดีต เงื่อนไขนี้ทำให้สร้างเรื่องราวได้ง่ายสำหรับนักเขียนมือใหม่ที่ใส่ตัวละครที่เหมือนตนเองลงไป แค่คิดว่า ถ้าหากคุณกลับไปเกิดใหม่ในอดีตพร้อมกับยังมีความทรงจำปัจจุบันอยู่ คุณจะทำอะไรได้บ้าง

นักเขียนส่วนมากจะจินตนาการมันได้แน่นอน หากคุณย้อนกลับไปหลายปีไปอดีตพร้อมกับความรู้จากอนาคต นั่นก็มีหนทางในการหาเงินมากเกินจินตนาการแล้ว แม้ว่าคุณจะไม่มีความสามารถในการทำธุรกิจเลย ไม่สามารถจำบริษัทในตลาดหุ้นได้เลย และจำไม่ได้ว่าใครเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก อย่างน้อยที่สุดเลย คุณจะไม่รู้บางสิ่งเช่น บริษัทไหนที่คุณควรไปลงทุนด้วยเลยหรือ?

นอกจากเรื่องการหารายได้ของตัวละคร คุณ ในฐานะตัวละครหลัก ไม่มีความรู้สึกผิดในชีวิตอะไรเลยหรือ? ยกตัวอย่างเช่น คุณเคยรู้สึกผิดที่ไม่ได้ปฏิบัติต่อพ่อแม่ให้ดีกว่านี้เมื่อตอนพวกเขายังมีชีวิตอยู่? เคยเสียใจที่เลือกเรียนวิชาเอกในมหาวิทยาลัย? เคยรู้สึกขายหน้าตอนที่คุณพยายามอย่างซุ่มซ่ามเพื่อให้ได้ใครสักคนมาเป็นแฟน? และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ทำไมคุณกลัวที่จะหาพล็อตเพื่อเอามาขยายในการดำเนินเรื่องไม่ได้?

ในเรื่องรายละเอียดเฉพาะก็เขียนได้ง่ายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณตั้งใจจะขายทรัพย์สินทั้งหมดที่คุณเป็นเจ้าของในอดีต และกู้เงินก้อนใหญ่เพื่อลงทุนในบริษัทแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ พ่อแม่ของคุณจะพูดและมีปฏิกิริยาอย่างไร? และพวกญาติพี่น้องและเพื่อนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร? คุณจะพยายามยืมเงินจากใครและพวกเขาจะตอบรับอย่างไร? อะไรคือกระบวนการเฉพาะของการลงทุนในบริษัท และวิธีการเฉพาะใดที่จำเป็นต้องใช้? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าบริษัทที่คุณลงทุนเกิดขาดทุนชั่วคราวหลังจากที่คุณเพิ่งลงทุนไป? พ่อแม่ของคุณจะบ่นใส่คุณและบอกให้คุณถอนการลงทุนหรือไม่? และผู้คนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อบริษัทที่คุณลงทุนไปนั้นเกิดทำรายได้มหาศาลโดยฉับพลัน และคุณจะทำอะไรกับเงินก้อนนั้น...

แค่การดำเนินเรื่องแบบนี้แบบเดียวกับจุดหักเหเรื่องการลงทุนในบริษัท ก็ให้ทางเลือกของเนื้อหาที่จะเขียนได้หลายทาง แม้กระทั่งเลือกวิธีง่ายเลย คือเขียนตามเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นต่อเนื่องไปตามธรรมชาติของผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน และถ้าคุณเลือกใช้เรื่องธรรมชาติของเหตุการณ์ต่อเนื่องเป็นพื้นฐานในการดำเนินเรื่อง และเขียนความขัดแย้งบางอย่างลงไปอย่างจงใจ เช่นตัวเอกค้นพบว่า เพื่อนของเขาที่เขาต้องการจะยืมเงิน จริงๆ แล้วได้ลงทุนอยู่กับบริษัทอื่นแห่งหนึ่ง ตัวเอกทำอย่างไรเรื่องเสแสร้งเป็นคนกันเองเมื่อตอนไปเปิดบัญชีการลงทุน และทำให้พนักงานหญิงของบริษัทเข้าใจผิดว่าเขาเป็นคนร่ำรวยจริงๆ หรือผู้คนเยาะเย้ยเขาขนาดไหนที่เขาเสี่ยงลงทุนในบริษัทนั้น

คุณจะไม่เห็นด้วยหรือ ว่าเหตุการณ์ต่อเนื่องทั้งหมดสามารถเพิ่มเนื้อหาของเรื่องได้อีกมากมาย? ไม่ใช่เพียงแค่นั้น การเขียนจุดหักเหของเรื่องอย่างนั้น ไม่ยากขนาดที่นักเขียนมือใหม่จะเขียนไม่ได้

แม้ว่าคุณจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่รู้สึกว่าคุณไม่มีจินตนาการสูงมาก และคุณไม่มีความมั่นใจที่จะเขียนเหตุการณ์และความขัดแย้งที่น่าสนใจ ยังมีความได้เปรียบอีกอย่างของการเขียนเรื่องสมัยใหม่ คือคุณสามารถยืมไอเดียมาจากสื่อต่างๆ ได้

แหล่งไอเดียส่วนมากจะหาได้โดยตรงจากละครโทรทัศน์ โดยเฉพาะเรื่องที่สถานการณ์ในเรื่องเป็นยุคปัจจุบันซึ่งเข้าใจได้ง่าย

นอกจากรายการทีวีและหนัง ยังมีเรื่องประเด็นร้อนในสังคม ข่าว หรือเรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับความขัดแย้งของบางครอบครัว... แหล่งไอเดียเหล่านี้มักถูกมองข้ามว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องปกติที่จะนำเรื่องเหล่านี้มาดัดแปลงให้น่าสนใจและเขียนลงในนิยายของคุณได้

นี่เป็นเหตุผลว่า หากเลือกมองจากมุมมองของการฝึกฝน การเขียนนิยายสมัยใหม่ก็เป็นแนวที่ง่ายที่สุดสำหรับนักเขียนมือใหม่ในการเขียนเรื่องราวในช่วงเริ่มต้นได้ดี

3. แนวเลียนแบบ

การเลียนแบบ ไม่ใช่ประเภทของนิยาย เพราะมันสามารถแฝงอยู่ในนิยายทุกประเภท และมันดูเหมือนจะมีความขัดแย้งกับที่กล่าวมาทั้งหมด จริงๆ มันหมายความว่านักเขียนมือใหม่อาจลองเลือกนิยายเรื่องโปรดและคุ้นเคยที่สุดของเขาหรือเธอ แล้วนำมันมาเป็นต้นแบบในการเขียนเรื่องของคุณ และคุณสามารถดัดแปลงให้เป็นประเภทไหนก็ได้ไม่จำกัด

การเลียนแบบอาจใส่ลงไปแค่ผิวเผิน หรืออาจใส่ลงไปมากก็ได้เหมือนกัน

ตัวอย่างของทฤษฎีการเลียนแบบ เรื่องอาจเป็นว่า ตัวละครหลักชื่อจางซันเป็นลูกชายของผู้นำกลุ่มแห่งปราสาทเขียว นิยายเลียนแบบของคุณอาจเป็น ตัวละครหลักชื่อหลี่ซี เป็นลูกชายของผู้นำกลุ่มหวู่ตัง เรื่องต้นฉบับคือจางซันตกหน้าผาลึกแต่รอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ พร้อมกับได้รับคัมภีร์เล่มหนึ่งที่มีวิธีการฝึกวิทยายุทธที่ได้ผลยิ่งยวดอย่างน่าอัศจรรย์ หลังจากที่เขาฝึกจนมีพลังเพิ่มขึ้นแล้ว พ่อของเขาส่งเขาให้ปลอมตัวเข้าไปที่กลุ่มปิศาจ ที่ที่เขาตกหลุมรักลูกสาวของผู้นำกลุ่มปิศาจ เรื่องของคุณอาจให้หลี่ซีโดนลอบทำร้ายระหว่างฝึกวิชาจนบาดเจ็บสาหัส ในขณะเดียวกันเขาก็เกิดบรรลุสำเร็จวิชาขั้นสูงได้เพราะความบาดเจ็บนั้น หลังจากนั้น หลี่ซีปลอมตัวเข้าไปที่กลุ่มปิศาจเพื่อสืบสวนว่าใครเป็นคนลอบทำร้ายเขา แล้วไปตกหลุมรักกับหลานสาวของผู้นำกลุ่มปิศาจ...

การเลียนแบบอย่างนี้ ใช้พลังในการคิดของนักเขียนน้อยลงมากขึ้นอีก เมื่อเทียบกับประเภทแฟนฟิกชั่น และวิธีการแบบนี้ ถ้ามองในมุมลิขสิทธิ์ จะใกล้กับการขโมยความคิดคนอื่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการแบบนี้มันใช้ได้สำหรับนักเขียนมือใหม่เพื่อฝึกฝนฝีมือให้เก่งยิ่งขึ้น

แต่มีข้อควรจดจำไว้ว่า รูปแบบการเขียนแบบนี้เหมาะสำหรับการฝึกฝนฝีมือการเขียนเท่านั้น หากเรื่องของคุณมีการเลียนแบบที่มากเกินไป มันจะเป็นไปไม่ได้แม้แต่จะนำมาโชว์ในที่สาธารณะ แม้ว่าคุณจะไม่ได้ใช้มันไปในทางการค้า แต่คุณได้ลอกเลียนแบบงานต้นฉบับ ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย มันอาจถึงขั้นทำลายพล็อตบางอย่างของเรื่องต้นฉบับและกระทบยอดขายและความนิยมของมันไปด้วย

เพราะฉะนั้นตามหลักการแล้ว วิธีการเรียนรู้การเขียนผ่านการเลียนแบบนี้ ไม่ใช่หนึ่งในวิธีที่ดีในการเรียนรู้นัก ถ้าจะให้พูดตรงๆ เลยก็คือ นี่เป็นวิธีสุดท้ายที่นักเขียนมือใหม่จะใช้ หลังจากล้มเหลวในการพยายามเรียนรู้จากการฝึกฝนด้วยตนเองมาแล้วทุกวิธีนั่นเอง

ในสถานการณ์ปกติ หลังจากผ่านการฝึกฝนการเขียนเลียนแบบไปเป็นเดือน นักเขียนควรได้เรียนรู้แนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับการเขียนมากขึ้น นักเขียนควรได้เรียนรู้การออกแบบการดำเนินเรื่อง และการบรรยายต่างๆ เมื่อได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่นักเขียนควรหยุดเลียนแบบ และเริ่มพัฒนาเขียนเรื่องต้นฉบับแท้ๆ ของตนเองได้แล้ว

.........................................................

0 0 โหวต
Article Rating
0 Comments
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด